ไข้หวัดใหญ่

ทำความรู้จัก “ไข้หวัดใหญ่”

          ในแต่ละปี มีผู้ติดเชื้อ “ไข้หวัดใหญ่” กว่า 100 ล้านคน ทั่วโลกใน ทวีปยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปี ในกรณีที่มีอาการมาก ผู้ป่วยอาจต้องพักฟื้นนาน 3ถึง 5วัน และถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะหายดีแล้วยังอาจมีอาการไอ และเพลียเรื้อรังนานหลายวันหรือหลายสัปดาห์ไข้หวัดใหญ่อาจมีความรุนแรงและทำอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ทำให้ผู้ป่วยจำนวน เป็นร้อยถึงเป็นพันคนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลในแต่ละปี ในปีที่มีการระบาด เฉพาะในอเมริกา อาจมีผู้ป่วยเสียชีวิต สูงถึง 40,000 คน ในช่วงหน้าหนาวของแต่ละปีใน สหราชอาณาจักร อาจมีผู้เสียชีวิต 3,000 ถึง 4,000 คน การระบาดของไข้หวัดใหญ่ที่รุนแรงที่สุดเรียกว่า หวัดสเปน (Spanish Flu)ระบาดทั่วโลก ในปี ค.ศ. 1918 ถึง 1920 มีผู้เสียชีวิตถึง 20 ล้านคน

ผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ หอบหืด และ เอดส์ จะมีอาการป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่รุนแรงกว่าคนปกติทั่วไปและมีโอกาสที่จะติดเชื้อในปอดและทางเดินหายใจ

ไข้หวัดใหญ่คืออะไร

            เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ โรคนี้มีการระบาดในประเทศต่างๆในซีกโลกเหนือในช่วงฤดูหนาวของทุกปี(เดือนตุลาคม ถึง เมษายน) ส่วนประเทศในซีกโลกใต้มีการระบาดในช่วงกลางปีของทุกปี (เดือนเมษายน ถึง กันยายน) โดยจะมีการระบาดนาน 6 ถึง 8 สัปดาห์

เชื้อไข้หวัดใหญ่อยู่ในน้ำมูก เสมหะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการไอจามรดกัน หรือติดต่อโดยมือสัมผัสกับน้ำมูก เสมหะของผู้ป่วยที่อาจติดอยู่กับของใช้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ราวบันได ลูกบิดประตู แล้วนำมาสัมผัสบริเวณใบหน้า เชื้อโรคจะเข้าสู่เยื่อบุจมูกและปากได้

หลังจากได้รับเชื้อประมาณ 1 – 3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง (38-40 องศาเซลเซียส) หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ไอแห้งๆคล้ายไข้หวัดธรรมดา แต่มักมีอาการรุนแรงกว่าและอาจจะมีโรคแทรกซ้อน เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ  แต่โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นภายใน 5 วันหลังป่วย และหายเป็นปกติภายใน 7 - 10 วัน

 

ประเทศไทย โรคไข้หวัดใหญ่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี แต่ในฤดูฝนมักจะมีผู้ป่วยมากกว่าฤดูอื่น ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา  มีรายงานผู้ป่วยปีละประมาณ 30,000 – 50,000 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ปีละน้อยกว่า 10 ราย ในช่วงปีพ.ศ. 2544 - 2546  มีรายงานผู้ป่วยปีละ 20,000 – 42,000 ราย แต่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพียง 1 ราย ในปีพ.ศ. 2544 ผู้ป่วยมีทุกกลุ่มอายุแต่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ

ในประเทศเขตหนาว มักมีการใช้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยให้วัคซีนแก่กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ผู้สูงอายุ เพราะอาจมีโรคแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ และอาจเสียชีวิตได้ โดยให้วัคซีนก่อนเข้าฤดูหนาว     

เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มักมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมทีละน้อยในแต่ละปี ดังนั้นวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะต้องมีการผลิตใหม่สำหรับแต่ละปี โดยปรับให้ตรงกับสายพันธุ์ที่แพร่กระจายอยู่เป็นส่วนใหญ่

การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

1.      รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้พอเพียง หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและสูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ผัก และผลไม้ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหาร และวิตามินเพียงพอ และสามารถสร้างภูมิต้านทานโรคได้ดี 

2.      หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิด หรือใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการไข้หวัด 

3.      รักษาร่างกายให้อบอุ่นในช่วงอากาศหนาวเย็น 

4.      หากมีอาการป่วยเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ควรระมัดระวังไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น โดยการปิดปากและจมูกด้วยผ้าเช็ดหน้าขณะไอ จาม หรือใช้หน้ากากอนามัย และหมั่นล้างมือบ่อยๆ ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

ทีมา : Roche Thailand

Visitors: 148,083